Healthy Tip

เบาหวาน ป้องกันได้ กับเคล็ดลับสุขภาพดีแบบฉบับหมอแอมป์ (ตอนที่ 1)

จากหลายๆตอนที่ผ่านมา เราได้พูดถึงหลากหลายเคล็ดลับ ในการดูแลสุขภาพกันไปแล้ว ตอนนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคที่อยู่ในกลุ่มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non communicable diseases : NCDs) คือโรคเบาหวานกันครับ โรคเบาหวานเป็นโรคที่น่าสนใจเพราะส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราเอง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การทานอาหารเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมาก ในอดีตคุณพ่อแม่ปู่ย่าตายายเรา เราจะรับประทานอาหารตามภูมิภาค ภูมิประเทศ แต่ในปัจจุบันโลกใบนี้เล็กลง การคมนาคมการขนส่งสิ่งต่างๆไปที่ต่างๆได้ไวขึ้น ทำให้เราเข้าถึงอาหารต่างถิ่นและอาหารต่างประเทศได้ง่ายมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากปัจจุบันที่แม้ว่าเราอยู่เมืองไทยก็สามารถกินอาหารญี่ปุ่นแท้ๆได้ สามารถทานอาหารตะวันตกได้ ชาวต่างชาติอยู่ตะวันตกก็สามารถหาอาหารอินเดียทานได้ เมื่ออาหารถูกมนุษย์ปรับเปลี่ยนและปรุงแต่ง เสริมเข้าไปให้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์มากขึ้น มนุษย์เรามีประมาณเจ็ดพันกว่าล้านคน โลกใบเดิมที่มีพื้นที่เท่าเดิม ก็ต้องสร้างและต้องเร่งให้อาหารออกมาพอเพียงกับการเลี้ยงมนุษย์ วันนี้จะมาคุยเรื่องการทานอาหารเกิน หรือโรคกินดีอยู่ดีเกินไปนั้นจะนำไปสู่โรคเบาหวาน กันได้อย่างไรครับ
 

สำหรับผู้อ่านท่านใดได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคเบาหวานแล้ว เวลาจะปรับเปลี่ยนหรือทำอะไรในการรักษา ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ประจำตัวก่อนเสมอ ใครที่เป็นโรคนี้แล้ว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์อายุรกรรม หรือแพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม (Endocrinology and Metabolism) เพื่อจะวางแผนการรักษา เพราะว่าผู้ที่เป็นแล้วจะมียาหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นยากิน ไม่ว่าจะเป็นยาฉีด ปรับยา เปลี่ยนโดสยา จึงต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนทุกครั้งนะครับ ส่วนคนที่ยังไม่เป็นโรคเบาหวาน เราจะมาคุยกันในเรื่องของการป้องกัน ใครที่มีญาติพี่น้องที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เรามีประสบการณ์ที่เห็นเขาแล้ว ไม่อยากเป็นเลย หมอแอมป์มีแนวทาง เคล็ดลับยังไง ให้ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน ถ้าใครอายุน้อย ก็เริ่มต้นดูแลตัวเองได้เลย ไม่ต้องรอจนแก่ เพราะว่าเบาหวานสามารถเป็นได้ทุกช่วงอายุ ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
 

โรคเบาหวาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Diabetes Mellitus หรือ DM แบ่งเป็น 4 ชนิด ชนิดแรก เบาหวานชนิดที่ 1 (DM type 1) ชนิดนี้ทางการแพทย์ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า มีสาเหตุการเกิดโรคอย่างไร แต่มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะเกิดมาจากพันธุกรรม หรือเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน หรือที่เรียกว่า Auto immune disease เลยน่าจะเกิดจากระบบภูมิต้านทานโจมตีแล้วก็ทำลายตัวเอง ไปที่เซลล์ตับอ่อน (Beta cell) ทำให้ร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ จนเบาหวานเกิดขึ้นมา และค่อนข้างรุนแรง แต่พบได้น้อยมีค่าเฉลี่ยเพียง 10 % ของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กระจายกันอยู่ทั่วไป แต่เบาหวานชนิดที่ 2 (DM type 2) เบาหวานชนิดนี้จะพบได้บ่อย เป็นเบาหวานชนิดมหาชน เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลเข้าไป ได้รับหลายอย่างเข้าไป วันนี้หมอจะมาบอกทฤษฎีด้วย เบาหวานก็คือภาวะที่ร่างกายเริ่มดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน หรือที่เรียกว่า insulin resistance อินซูลินก็คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาจากตับอ่อนของร่างกาย เพื่อมาจัดเก็บ มาเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายเรา เมื่อวันหนึ่งที่ร่างกายเปลี่ยนไป ก็จะเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เมื่ออินซูลินหลั่งมาแล้ว ร่างกายไม่สามารถจัดเก็บน้ำตาลได้เหมือนเดิม ก็ทำให้ระดับน้ำตาลรวมในเลือดของเราสูงขึ้น คร่าวๆก็เลยเรียกว่า โรคเบาหวาน ชนิดที่ 3 เรียกว่า prediabetes ก็คือ ภาวะเบาหวานแฝง หรือก่อนจะเป็นเบาหวาน ภาวะนี้สำคัญมาก ถ้าใครไปตรวจเลือดหรือไปพบแพทย์ แล้วตัวเองอยู่ในภาวะเกือบจะเป็นเบาหวานหรือเบาหวานแฝง ถ้าเร่งปรับพฤติกรรมตัวเองด้วยความมุ่งมั่น ก็สามารถ reversible หรือปรับเปลี่ยนตัวเองจากจุดเสี่ยง กลับมาเป็นปกติได้ สุดท้ายโรคเบาหวานชนิดที่ 4 หรือ Gestational diabetes หรือว่าเป็นเบาหวานที่เกิดในช่วงคุณแม่ตั้งครรภ์
 

ความน่ากลัวของโรคเบาหวาน ที่โจมตีมนุษย์เราจากอาหารการกิน เกิดโรคอ้วนมากขึ้น เกิดโรคต่างๆมากขึ้น โดยที่หมอเคยพูดไว้เสมอว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นกลุ่มที่อันตรายมากๆ ปัจจุบันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 75-80% ซึ่งเบาหวานก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของโรค NCDs โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ สถิติของการป่วยเป็นโรคเบาหวานในปี 1980 มีคนทั้งโลกเป็นเบาหวานทั้งหมด 108 ล้านคน หรือ 4.7 % ต่อมาในปี 2021 จำนวนคนเป็นโรคเบาหวาน กระโดดขึ้นมาจาก 100 กว่าล้านคน เป็น 537 ล้านคน หรือประมาณ 10 % หรือ 1 ใน 10 คนเดินมา ต้องเป็นเบาหวาน แล้วคนเป็นเบาหวานเป็นโรคที่ค่อยๆเสื่อมลงของอวัยวะ เสื่อมลงของร่างกาย อย่าลืมว่า เวลาเลือดเราหวาน ก็ไหลเวียนไปทั่วตัว ไปสมองก็เสื่อมสมอง ไปนิ้วก็ไปเสื่อมนิ้ว ไปไตก็ไปเสื่อมไต ไปตาก็ไปเสื่อมตา ค่าใช้จ่ายของคนเป็นโรคเบาหวาน สูงกว่าคนธรรมดา 2.3 เท่า เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แถมยังต้องมาลำบากลูกหลานอีก เลยเป็นโรคที่หมออยากให้ทุกท่านช่วยกันดูแลตัวเอง ดูแลพ่อแม่ ดูแลคนที่เรารัก ดูแลลูก อย่าปล่อยให้กินของที่ไม่ดีจนอ้วน แล้วเป็นเบาหวานตั้งแต่เด็ก โตเป็นผู้ใหญ่ก็ยิ่งอันตราย โรคเบาหวานไม่มีใครอยากเป็น เราจึงต้องออกมาตรการต่อสู้กับโรคนี้กัน
 

สาเหตุของโรคเบาหวาน จะเน้นเบาหวานชนิด ที่ 2 เป็นหลัก เพราะเป็นชนิดมหาชน สาเหตุหลักๆคือ

1. รหัสพันธุกรรม (Genetics)

2. วิถีชีวิตหรือการใช้ชีวิตของเรา (Lifestyle) เป็นผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำหนักเกิน กินเยอะ อ้วนเยอะ รอบเอวเกินค่ามาตรฐาน มีไขมันในช่องท้อง (Visceral fat) ที่เป็นผลมาจากการทานเยอะเกินไปจนเผาผลาญไม่หมด แล้วก็เก็บสะสมในร่างกายเรา ในลำไส้ ในตับ หรือตับอ่อนหรือในอวัยวะต่างๆ

3. การรับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ อาหารที่ไม่มีคุณภาพ (Junk food) และอาหารแปรรูป (Processed food)

4. อายุที่มากขึ้น ผู้ที่มีอายุเกิน 45 ปี จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น

5. ประวัติครอบครัว ใครที่คุณพ่อคุณแม่ หรือว่ามีครอบครัวเป็นเบาหวาน ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงได้อีก

6. การขาดการออกกำลังกาย นี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอีก 1 ปัจจัย เพราะร่างกายทานเยอะ แต่เผาผลาญน้อย

7. ภาวะที่คอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือระดับไตรกลีเซอไรด์ หรือไขมันในเลือดสูง ก็เป็นตัวที่ทำให้เสี่ยงขึ้น ภาวะความดันโลหิตสูงก็เช่นกัน ทำให้ความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม

อาการของคนเป็นโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง โดยทั่วๆไป จะเป็นตัวที่เราสามารถสังเกตไว้ก่อน อาการเราใกล้เคียงหรือไม่ จะได้ไปตรวจวินิจฉัย อาการมีดังนี้ หิวบ่อยมากขึ้น ชอบกินจุบจิบมากขึ้น กระหายน้ำมากขึ้น น้ำหนักตัวลดลง ปัสสาวะบ่อยขึ้น ทั้งกลางวันและกลางคืน สายตาพร่ามัวมองเห็นไม่ชัด อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย การปวดเมื่อยตามร่างกายโดยไม่ได้มีสาเหตุอื่น เช่น ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ทำงานหนัก แต่ปวดกล้ามเนื้อโดยไม่รู้สาเหตุ หรือมีสัญญาณเตือนบางอย่าง ที่อาจเป็นเบาหวานมาสักระยะหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดรอยคล้ำ หรือว่ารอยดำ เช่น ตรงหลังคอ ตรงข้อพับ ทางการแพทย์เรียกว่า Acanthosis Nigrican เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงหรือเป็นเบาหวานแล้ว อาจจะรู้ตัวหรืออาจจะไม่รู้ตัว อาการที่แตกต่างกันในแต่ละเพศ บางทีก็แตกต่างกันด้วย ในเพศชายคนที่เป็นเบาหวาน จะมีอาการเพิ่มเติม เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อารมณ์ทางเพศลดลง (Loss of libido) อวัยวะเพศไม่แข็งตัว พลังกล้ามเนื้อหรือมวลกล้ามเนื้อลดลง เพศหญิง อาจจะเกิดอาการ กระเพาะปัสสาวะอักเสบง่ายขึ้น เชื้อราในช่องคลอด ผิวแห้งลง ผิวคันมากขึ้น พัฒนาร่วมไปกับโรค PCOS หรือถุงน้ำรังไข่ เป็นต้น ที่กล่าวมานี้เป็นอาการคร่าวๆของโรคเบาหวาน ที่เราสามารถนำไปใช้สังเกตดูแลตัวเราและคนรอบข้างได้
 

มาที่เรื่องรหัสพันธุกรรมกันบ้าง 30 % ของความเสี่ยงโรคเบาหวาน เกิดจากพันธุกรรม สมัยที่ยังเจาะรหัสพันธุกรรมไม่ได้ จะใช้ถามเอาว่า คุณปู่คุณย่า หรือคุณพ่อคุณแม่เป็นเบาหวานไหม แล้วนำมาคำนวณเป็นความเสี่ยง แต่ในปัจจุบันที่เราสามารถที่จะเอาเนื้อเยื่อไปตรวจ แล้วดูรหัสพันธุกรรมได้ มันก็จะแม่นยำขึ้น รหัสพันธุกรรมที่มีการวิจัยไว้ว่า มีความเสี่ยงเกี่ยวกับเบาหวานมีเป็น 100 ยีนส์ แต่เลือกมาเพียงตัวหลักๆ เช่น ABCC8 และ TCF7L2 ช่วยในการควบคุมการหลั่งของอินซูลิน, ยีนส์ GLUT2 ช่วยในการจัดการน้ำตาล เพื่อเอาไปใช้, ยีนส์ GCGR เกี่ยวกับฮอร์โมนกลูคากอน ช่วยในการจัดการกลูโคส, ยีนส์ LOC100128714, ยีนส์ SEZ6L และ ยีนส์ TRIAP1 เกี่ยวข้องกับภาวะร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ถ้ายีนส์ที่เกี่ยวข้องมีการกลายพันธุ์ ก็จะมีความเสี่ยงเบาหวานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีความเสี่ยงเบาหวาน แต่ถ้าเรามีสติ มีความตั้งใจที่จะดูแลตัวเองให้ดี ถ้าปากหรือพฤติกรรมเราดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยง หรืออาจจะป้องกันได้เลย ไม่ใช่พอรู้ว่า มียีนส์เบาหวานอยู่ในครอบครัว ก็ปล่อยไป ไม่ดูแลตัวเอง
 

สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน จะมาสรุปให้ฟังกันสั้นๆ ให้เข้าใจได้ง่าย การรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่มากๆเข้าไปในแต่ละวัน ทำให้ร่างกายเรามีเซลล์ไขมันเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมันข้างนอก ให้นึกภาพหมูสามชั้น หรือว่าจะเป็นมันที่แทรกอยู่ในร่างกาย ให้นึกเป็นภาพเนื้อวากิว ที่มีลายหินอ่อน ไขมันยิ่งกินเยอะ จะไปแทรกตามเนื้อ ตามตับเรา ถ้ารู้จักฟัวกราส์หรือตับห่าน เวลาเราเป็นไขมันพอกตับก็จะเป็นอย่างนั้น เซลล์ไขมันเข้าไปทำลายเนื้อดีทั้งสิ้น เวลาไขมันแทรกเข้าไปในอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ ตับ หรือหลอดเลือด ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ อย่างฮอร์โมนเลปติน (leptin) หรือฮอร์โมนอิ่ม ก็จะสร้างมากขึ้น เวลาเซลล์ไขมันมากขึ้น เมื่อฮอร์โมนเลปตินสูงขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง ก็จะเกิดภาวะดื้อ คราวนี้ปัญหาก็เกิด เพราะเวลาฮอร์โมนเลปตินสูง ก็จะทำให้ฮอร์โมนดีที่ชื่อว่า อะดิโพเน็กทิน (adiponectin) ถูกสร้างน้อยลง เวลาเซลล์ไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น การอักเสบก็ยิ่งเพิ่มขึ้น นี่คือปัญหา เมื่อมีสารอักเสบออกมาเยอะๆ กระบวนการสร้างน้ำตาลก็ไม่ถูกยับยั้ง จนระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ถ้าเจาะเลือด ก็จะเห็นว่ามีสารอักเสบตัวหนึ่งที่ชื่อว่า CRP (C-reactive protein) เพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการอักเสบในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณตับและตับอ่อน ฮอร์โมนต่างๆจะเริ่มผิดปกติ เหมือนเวลาเราเกิดภาวะโรคอ้วน ไขมันจะเข้าไปแทรกในตับและตับอ่อน ถ้าเข้าไปที่ตับเยอะมากๆจะเรียกตับแข็ง ถ้าเข้าไปที่ตับอ่อน เดี๋ยวก็เป็นเบาหวาน คราวนี้เบาหวานก็มีหลายระยะ ตั้งแต่แค่น้ำตาลสูงอย่างเดียว ไปจนถึงอาการต่างๆที่หมอกล่าวมา หรือบางคน เป็นแผลที่เท้าไปเตะโต๊ะเตะตะปู แล้วแผลเน่า ต้องตัดนิ้วเท้า ตัดขา ตัดแขน ต้องระมัดระวังมากๆ ถ้าเป็นเบาหวานนานๆเข้า อาจเกิดไตวาย บางทีก็ไปที่ตา ตาบอดด้วย ไปได้ทั่วร่างกายเลย
 

วันนี้เราได้ทำความรู้จักกับชนิด และสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน ทั้งพันธุกรรม วิถีชิวิต พฤติกรรมการทานอาหาร การขาดการออกกำลังกาย และอาการของผู้ที่เป็นเบาหวานแล้ว ตอนหน้าเราจะมาต่อกันถึงเกณฑ์การวัดค่าผลเลือดต่างๆ และเคล็ดลับการดูแลสุขภาพที่เราควรทราบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคเบาหวานกัน เพราะหมอเชื่อว่าการป้องกัน ย่อมดีกว่าการรักษา “Prevention is better than cure” หรือที่คนไทยเรียกว่า กันไว้ดีกว่าแก้ นั่นเองครับ
 

ที่มา: วารสารการเงินการธนาคาร ฉบับที่ 477
 

แหล่งอ้างอิง

1.Sun H, Saeedi P, Karuranga S, Pinkepank M, Ogurtsova K, Duncan B et al. IDF diabetes Atlas: Global, regional and country-level diabetes prevalence estimates for 2021 and projections for 2045. Diabetes Research and Clinical Practice. 2021;:109119.

2. American Diabetes Association, 2013. Diagnosis and classification of diabetes mellitus. Diabetes care, 36(Suppl 1), p.S67.

3. Daneman, D., 2006. Type 1 diabetes. The Lancet, 367(9513), pp.847-858.

4. Chatterjee, S., Khunti, K. and Davies, M.J., 2017. Type 2 diabetes. The Lancet, 389(10085), pp.2239-2251.

5. World Health Organization, 2021. Diabetes. [Online] Available at: https://www.who.int/health-topics/dia... [Accessed 17 January 2021].

6. Booth, F.W., Gordon, S.E., Carlson, C.J. and Hamilton, M.T., 2000. Waging war on modern chronic diseases: primary prevention through exercise biology. Journal of applied physiology, 88(2), pp.774-787.

7. Pan, X.R., Li, G.W., Hu, Y.H., Wang, J.X., Yang, W.Y., An, Z.X., Hu, Z.X., Xiao, J.Z., Cao, H.B., Liu, P.A. and Jiang, X.G., 1997. Effects of diet and exercise in preventing NIDDM in people with impaired glucose tolerance: the Da Qing IGT and Diabetes Study. Diabetes care, 20(4), pp.537-544.

8. Tuomilehto, J., Lindström, J., Eriksson, J.G., Valle, T.T., Hämäläinen, H., Ilanne-Parikka, P., Keinänen-Kiukaanniemi, S., Laakso, M., Louheranta, A., Rastas, M. and Salminen, V., 2001. Prevention of type 2 diabetes mellitus by changes in lifestyle among subjects with impaired glucose tolerance. New England Journal of Medicine, 344(18), pp.1343-1350.

9. American Diabetes Association. Gestational diabetes mellitus. Diabetes care. 2004 Jan 1;27(suppl 1):s88-90.

สามารถติดตามอ่านแหล่งอ้างอิงต่อได้ที่ :
https://www.facebook.com/drampteam http://www.dramp.com