Healthy Tip

เบาหวาน ป้องกันได้ กับเคล็ดลับสุขภาพดีแบบฉบับหมอแอมป์ (ตอนที่ 2)

จากตอนที่ผ่านมาเราได้รู้จักกับชนิด และสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน ทั้งจากรหัสพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ วิถีชีวิต พฤติกรรมการทานอาหาร การขาดการออกกำลังกาย และอาการของผู้ที่เป็นเบาหวานแล้ว ตอนนี้เรามาต่อกันถึงเกณฑ์การวัดค่าผลเลือดต่างๆ และเคล็ดลับการดูแลสุขภาพที่เราควรทราบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคเบาหวานกันต่อครับ
 

เริ่มจากตัวชี้วัดของการวินิจฉัยเบาหวานหรือภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ นอกจากจะวินิจฉัยด้วยอาการแล้ว ต้องร่วมกับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดร่วมด้วย หมอจะขอแบ่งประเภทของระดับน้ำตาลในเลือดให้เข้าใจง่าย 2 วิธีคือ
 

• น้ำตาลในเลือด ณ เวลาเจาะเลือดหลังการอดอาหาร หรือ Fasting plasma glucose (FPG) คือระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากการงดรับประทานอาหารอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง โดยทั่วไปแล้วเราจะงดทานอาหารในช่วงมื้อค่ำและอดไปถึงช่วงเข้าเพื่อตรวจ ทำให้ผลตรวจวิธีนี้อาจมีค่าแตกต่างกันในแต่ละวันได้ ตามปริมาณอาหารมื้อเย็นที่ทาน เวลาที่ทาน และประเภทของอาหารที่ทานเข้าไป แต่จะอยู่ในช่วงปกติคือ 70-99 mg/dL หากมีค่า 100-125 mg/dL ถือว่ามีภาวะเบาหวานแฝง และ มากกว่า 126 mg/dL อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน วิธีนี้จึงมักถูกตรวจเพื่อดูระดับน้ำตาลในร่างกายและคัดกรองความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานได้

• น้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่สะสมเป็นระยะเวลาในช่วง 3 เดือนตามอายุเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Hemoglobin A1c (HbA1c) ที่ควรต้องมีค่าน้อยกว่า 5.7% ภาวะเบาหวานแฝง น้ำตาลสะสมอยู่ในระหว่าง 5.7-6.4 % ใครที่ค่าอยู่ในช่วงนี้ควรรีบวิ่งหนีจากเบาหวานโดยด่วนเลยครับ เพราะหากยังคงไม่ควบคุมจนมีค่าสูงถึง 6.5% ขึ้นไป ก็จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวาน
 

ทั้งสองวิธีนี้คือตัวชี้วัดเป็นแนวทางไว้สำหรับเวลาเราได้ไปตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี เราจะได้ทราบว่า เราต้องระวัง ต้องจัดการ ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ส่วนท่านใดที่เป็นเบาหวานแล้ว ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม (Endocrinology and Metabolism) ท่านที่มีภาวะเบาหวานแฝงก็ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายโดยด่วน และท่านใดที่ค่าน้ำตาลในเลือดดีอยู่แล้ว อย่าการ์ดตกดูแลสุขภาพกันต่อไปนะครับ
 

ก่อนอื่นมาต่อจากตอนที่แล้วด้านความเสี่ยงของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ใครที่ตั้งครรภ์ต้องระมัดระวัง อย่าให้น้ำหนักเพิ่มจนเกินเกณฑ์ เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน อาหารขยะ ทานมากเกินไปเกิดภาวะโรคอ้วนได้ ดังนั้นการวางแผนการตั้งครรภ์จึงเป็นทางเลือกที่ดี ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของเบาหวานช่วงตั้งครรภ์ คือ 1)อายุ หากมากกว่า 25 ปี ก็เข้าข่ายเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต้องปรึกษาแพทย์ แล้วก็เจาะเลือด ซึ่งแพทย์จะเจาะวัดระดับน้ำตาลให้ ในทุกครั้งที่ไปฝากครรภ์ 2)ในการตั้งครรภ์ที่ผ่านมา มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงในครรภ์ต่อไปด้วย 3)บุตรที่คลอดก่อนหน้ามีน้ำหนักเกิน 4 กก. ก็ถือว่า เข้าข่ายเป็นเบาหวานช่วงตั้งครรภ์ 4)มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน หรือตรวจความเสี่ยงทางรหัสพันธุกรรมขึ้น อันนี้ก็ต้องระมัดระวัง 5)มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome-PCOS) ภาวะนี้ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไปกันต่อที่ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน
 

เราได้เรียนรู้การประเมิน สาเหตุ และอาการของโรคเบาหวานกันแล้ว จะขออธิบายขยายความให้กระจ่างกันอีกนิดว่า เหตุใดหมอถึงมองว่าการเป็นเบาหวานนั้นมันอันตราย น่ากลัว เพราะเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ได้เยอะเลย ไปดูกระบวนการหรือวิธีการกันก่อน ในขณะที่ร่างกายเรามีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น เราก็จะเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน และมักจะเป็นพร้อมกับโรคไขมันพอกตับ ไขมันพอกตับอ่อน ซึ่งเกิดการทำลายจากสารอนุมูลอิสระ (Free radical) ที่เรียกว่า Oxidative damage ผ่านกระบวนการ NF-kB pathway เมื่อไหร่ที่เกิดการอักเสบเยอะ กระบวนการ NF-kB ก็จะทำงาน เมื่อเกิดกระบวนการนี้ซ้ำๆบ่อยครั้ง จะไปกระทบยีนส์กว่า 400 ตัว ให้เกิดการอักเสบในวงกว้าง แล้วกระตุ้นในการเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆขึ้น และยังมีอีก 1 กระบวนการ ที่เรียกว่า JNK ที่ทำให้เกิดการอักเสบ ก่อให้เกิดโรคในร่างกายเช่นกัน
 

เมื่อเราเข้าใจถึงการเกิดความเสี่ยงของการอักเสบสูงขึ้นกับเซลล์และอวัยวะต่างๆในร่างกาย เราก็จะไม่ประหลาดใจกับผู้ป่วยเบาหวานที่มักจะประสบกับปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคปลายประสาทอักเสบ ปลายประสาทเสื่อม (Neuropathy) โรคทางไต (Nephropathy) โรคทางสายตา (Retinopathy) การได้ยินผิดปกติ แผลหายยาก ผิวหนังอักเสบง่ายหรือติดเชื้อราที่ผิวหนัง บางท่านเป็นแผลที่ขา บางท่านชาปลายมือปลายเท้า รักษาหายช้า จากปัญหาสุขภาพทางกายที่อาจจะพัฒนาไปเป็นโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า ภาวะความจำเสื่อม (Dementia) เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวานครับ
 

เรามาอัปเดตการศึกษาวิจัยต่างๆเกี่ยวกับโรคเบาหวานและการดูแลรักษาในปัจจุบันมีมากมาย หมอขอเลือกและสรุปมาจากงานวิจัยที่เล็งเห็นว่ามีประโยชน์ น่าสนใจ และเลือกนำไปใช้ในชีวิตจริงกันได้ครับ
 

มีการวิจัยใน The American Journal of Clinical Nutrition ในปี 2004 โดยคณะคุณหมอ Lee S Gross จาก Cleveland Clinic วิจัยพบว่า ความเสี่ยงของโรคเบาหวาน จากการรับประทานอาหารประเภทไขมันนั้น เทียบเท่ากับความเสี่ยงจากการรับประทานน้ำตาล หลายคนหยุดทานอาหารหวานหรือน้ำตาล จะเห็นว่าเบาหวานหรือน้ำตาลในเลือดไม่ลดลงเลย เพราะไขมันมีความเสี่ยงกับโรคเบาหวาน พอๆกับน้ำตาลเลยทีเดียว จากการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยหรือไฟเบอร์เยอะๆ เช่น ผัก มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานได้มาก และลดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน, ติดหนัง, ของทอด, ของผัด, เนื้อสัตว์แปรรูป, เนย, ชีส เป็นต้น หมอจึงได้เน้นย้ำกับทุกท่านเสมอว่า อาหาร 1 จาน ต้องมีผักครึ่งหนึ่งอย่างอื่นครึ่งหนึ่ง ท่องไว้แค่นี้ กินผักให้เยอะ ไฟเบอร์ให้เยอะ อีกหนึ่งการวิจัย ใน The New England Journal of Medicine ในปี 2002 จาก Diabetic Prevention Program Research Group หรือเรียกว่า DPP ถูกมอบหมายการวิจัยร่วมจาก CDC จากอเมริกา เป็นการวิจัยแบบทดลอง เรื่องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต(Lifestyle) มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคเบาหวานได้หรือไม่ ความน่าสนใจในงานวิจัยนี้คือมีการให้ยา Metformin หรือยารักษาเบาหวานควบคู่กันไป โดยยา Metformin นั้นมีส่วนช่วยในการป้องกันหรือลดการเกิดโรคเบาหวานได้ด้วยเช่นกัน ผลการศึกษาพบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้ยา Metformin ช่วยลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานได้ทั้งคู่อย่างมีนัยสำคัญ ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงที่ ร้อยละในการลดโรคเบาหวาน ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถลดความเสี่ยงได้สูงถึง 58 % แต่ส่วนการรับประทานยา Metformin ลดความเสี่ยงได้เพียง 31 % การวิจัยจาก DPP จึงสรุปได้ว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Lifestyle Change) มีประสิทธิภาพสูงกว่าการทานยาเกือบ 2 เท่า
 

จะเห็นว่าการที่เรารักตัวเองเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพมากขึ้นนั้น ทำให้เราเสียเงินน้อยกว่า สุขภาพดีกว่า ไม่ต้องรับประทานยาด้วย และได้ประสิทธิภาพมากกว่าการกินยา หมอจึงอยากจะเน้นย้ำว่า วันนี้ท่านใดที่ยังไม่เป็นเบาหวาน ต้องสู้เลย เริ่มเลย ใครที่ดูแลสุขภาพดี ระดับน้ำตาลในเลือดดีอยู่แล้ว ทำต่อไป การประสบความสำเร็จในเชิงสุขภาพของมนุษย์ ไม่มีอะไรมีค่าไปกว่าการไม่เจ็บป่วย เงินทองไม่สามารถซื้อสุขภาพได้
 

มาถึงตรงนี้แล้วหลายท่านคงอยากทราบถึงเคล็ด(ไม่)ลับ การดูแลป้องกันเบาหวาน แบบฉบับหมอแอมป์ ว่าจะมีการดูแลตัวเองเป็นอย่างไร มีอาหารที่ควรทาน ควรระวัง และควรเลี่ยงอะไรบ้าง รวมถึงงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวานและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาฝากทุกท่านเช่นเคย เรามาติดตามกันต่อในตอนหน้ากันครับ มาวางแผนดูแลสุขภาพ วางแผนป้องกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ชีวิตให้ร่างกายเราแข็งแรง (Lifestyle modification) ด้วยกันนะครับ
 


แหล่งอ้างอิง

1. American Diabetes Association, 2013. Diagnosis and classification of diabetes mellitus. Diabetes care, 36(Suppl 1), p.S67.


2. Daneman, D., 2006. Type 1 diabetes. The Lancet, 367(9513), pp.847-858.

3. Chatterjee, S., Khunti, K. and Davies, M.J., 2017. Type 2 diabetes. The Lancet, 389(10085), pp.2239-2251.

4. World Health Organization, 2021. Diabetes. [Online] Available at: https://www.who.int/health-topics/dia... [Accessed 17 January 2021].

5. Booth, F.W., Gordon, S.E., Carlson, C.J. and Hamilton, M.T., 2000. Waging war on modern chronic diseases: primary prevention through exercise biology. Journal of applied physiology, 88(2), pp.774-787.

6. Pan, X.R., Li, G.W., Hu, Y.H., Wang, J.X., Yang, W.Y., An, Z.X., Hu, Z.X., Xiao, J.Z., Cao, H.B., Liu, P.A. and Jiang, X.G., 1997. Effects of diet and exercise in preventing NIDDM in people with impaired glucose tolerance: the Da Qing IGT and Diabetes Study. Diabetes care, 20(4), pp.537-544.

7. Tuomilehto, J., Lindström, J., Eriksson, J.G., Valle, T.T., Hämäläinen, H., Ilanne-Parikka, P., Keinänen-Kiukaanniemi, S., Laakso, M., Louheranta, A., Rastas, M. and Salminen, V., 2001. Prevention of type 2 diabetes mellitus by changes in lifestyle among subjects with impaired glucose tolerance. New England Journal of Medicine, 344(18), pp.1343-1350.

8. American Diabetes Association. Gestational diabetes mellitus. Diabetes care. 2004 Jan 1;27(suppl 1):s88-90.

สามารถติดตามอ่านแหล่งอ้างอิงต่อได้ที่ :
https://www.facebook.com/drampteam http://www.dramp.com