Healthy Tip

โรคเกาต์ (Gout) คืออะไร ดูแลและป้องกันอย่างไร

จากตอนที่ผ่านๆมาเราได้ทราบถึง 5 เคล็ดลับสุขภาพดี เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ อาหารชะลอวัยห่างไกลโรค โรคเบาหวานการดูแลและป้องกัน วิตามินและแร่ธาตุบำรุงผม และโปรตีนพืชทางเลือกสุขภาพกันไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงอีกหนึ่งอวัยวะของร่างกายที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ร่างกายเราสามารถขยับ สามารถเคลื่อนไหวหยิบจับสิ่งของ ก็คือกระดูกและข้อ กับโรคยอดฮิตนั่นก็คือโรคเกาต์กันครับ
 

โรคเกาต์ที่เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก บางท่านเป็นแล้วหาย บางท่านกลับมาเป็นซ้ำ โรคเกาต์มีการบันทึกไว้ในอดีตยาวนานมากตั้งแต่สมัยฮิปโปเครติสว่ามีโรคนี้เกิดขึ้น โรคเกาต์เกิดจากการสะสมของกรดยูริก(Uric acid) เกิดจากการรับประทานอาหาร เราจะไม่พบกรดยูริกในอาหารโดยตรงแต่จะพบในรูปของสารตั้งต้นที่ชื่อว่าสารพิวรีน (Purine) ที่มีความสำคัญกับเรื่องของโรคเกาต์ เป็นสารชนิดหนึ่งที่อยู่ในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปสารพิวรีน จะเปลี่ยนรูปแล้วเกิดเป็นผลึก ชื่อว่ากรดยูริก เวลาเรามีกรดยูริกตามข้อต่างๆในร่างกายเยอะ ก็จะเกิดอาการปวด บวม แดงร้อน (Arthritis) ที่สำคัญที่พบได้บ่อยคือที่ข้อเท้า และข้อที่นิ้วหัวแม่เท้า (Metatarsophalangeal joint) บางท่านเป็นที่มือ บางท่านเป็นที่เข่า เพราะเมื่อกรดยูริกสูง จะเกิดอาการอักเสบ แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic gout) เมื่อเราใช้กล้องจุลทรรศน์ขยายดูโมเลกุลแล้ว จะพบว่ากรดยูริกจะมีลักษณะเหมือนกับคริสตัล เป็นเข็มแหลมๆ เวลาไปเกาะอยู่ตามข้อของร่างกาย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงรู้สึกว่ามีอะไรกำลังทิ่มแทง ให้เรารู้สึกเจ็บปวด เกิดอาการบวมแดงร้อน เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะข้อที่มีอุณหภูมิต่ำๆจะมีการสะสม และตกตะกอนได้ง่ายกว่าข้อปกติ ข้อที่อยู่ไกลๆหัวใจ เช่น ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า เป็นต้น กรดยูริกก็จะชักนำให้เกิดการอักเสบ มีสาร Complement เช่น C3a, C5a ซึ่งก็จะชักนำให้เม็ดเลือดขาวเข้ามาจัดการ มี neutrophil มี macrophage เข้ามาเก็บกิน มาเจอการอักเสบ พยายามเข้ามาสู้กัน ก็เกิดสารต่างๆ ขึ้นมากมายในบริเวณข้อที่มีกรดยูริกตกผลึกอยู่เยอะ มี Interleukin-6 มี TNF-alpha เป็นสารที่ทำให้ข้ออักเสบ พออักเสบนานๆก็จะทำลายข้อต่อ ทำลายเส้นเอ็น แล้วก็กระดูกอ่อนบริเวณนั้นไป เพราะฉะนั้นเขาเรียกว่า Acute gout attack อาการก็จะเจ็บเหมือนเข็มทิ่มแทง อาจจะปวดได้ 3 วัน ถึง 10 วัน ถ้ามีอาการอยู่นาน เป็นแล้วหาย กินยาแล้วหาย แต่กลับมาเป็นซ้ำๆหลายครั้ง เรียกว่า โรคเรื้อรัง (Chronic gout) กลุ่มนี้เองจะมีการตกผลึก จะมีการอักเสบ การต่อสู้ระหว่างเม็ดเลือดขาวกับร่างกายเรา จนเกิดขึ้นเป็นก้อน ท่านใดที่ยังนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงภาพเหมือนกับตาต้นไม้ จะเป็นก้อนกลมๆ เรียกว่า ก้อนโทไฟ (Tophi) เป็นก้อนของเกาต์ที่เป็นมานาน หรือเป็นโรคเรื้อรัง ก้อนนี้พอไปเกาะอยู่ ก็จะเกิดการเสียดสี เกิดความเสียหายในข้อต่อของเราเป็นต้น นี่คือลักษณะอาการเริ่มต้นของโรคเกาต์ คราวนี้ เราไปดูสาเหตุกันบ้าง
 

ข้อที่ 1 คือ เรื่องของอาหารการกิน อาหารที่มีสารพิวรีนสูง เมื่อย่อยเสร็จจะทำให้เกิดกรดยูริกในเลือดมากขึ้น

ข้อที่ 2 คือ การขับกรดยูริกออกจากร่างกาย ได้ช้าหรือน้อยกว่าปกติ เช่น การรับประทานยาบางชนิด

ข้อที่ 3 อันนี้ทั่วโลก เขาวิจัยมาว่า ผู้ชายจะเป็นโรคเกาต์มากกว่าผู้หญิง

ข้อที่ 4 การสร้างกรดยูริกมากเกินไป จากการที่เซลล์ถูกทำลาย กรดยูริกก็จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เช่น โรคมะเร็ง หรือว่าคนไข้กลุ่มที่ได้รับเคมีบำบัด (chemotherapy) อยู่ ก็สามารถที่จะเกิดอาการกรดยูริกในเลือดสูง

ข้อที่ 5 จากโรคเครียด เวลาเราเครียด ก็จะเกิดฮอร์โมนเครียดขึ้นมา เช่น คอร์ติซอล ซึ่งกระตุ้นเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น โรคเกาต์เป็นโรคที่มีเข็มทิ่มแทงแอบซ่อนอยู่ในข้ออยู่แล้ว ถ้าเราไปทำให้เลือดของเราอักเสบง่ายขึ้นด้วย ก็จะยิ่งกระตุ้นเข้าไปใหญ่เลย พอเราเครียด การอักเสบก็มากขึ้น ก็จะปวด บวม แดง ร้อน มากกว่าปกติ

ข้อที่ 6 โรคอ้วน เป็นปัจจัยสำคัญของการกระตุ้นโรคเกาต์ เนื่องจากเซลล์ไขมันจะสร้างกรดยูริกมากกว่าเซลล์กล้ามเนื้อ เมื่อเป็นโรคอ้วน ก็จะเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกรดยูริกมากกว่าเดิม

ข้อที่ 7 ประวัติทางพันธุกรรม ในอดีต จะใช้วิธีถามว่า พ่อแม่พี่น้องเป็นโรคเกาต์หรือเปล่า แต่ในปัจจุบันทางการแพทย์สามารถจะตรวจรหัสพันธุกรรมเรื่องโรคเกาต์ได้ เช่น ยีนส์ที่ชื่อว่า SLC2A9 หรือ ยีนที่ชื่อว่า ABCG2 หรืออีก 1 ตัว ที่มีการวิจัยไว้เยอะก็คือ FAM35A เป็นต้น

ข้อที่ 8 โรคประจำตัว สามารถกระตุ้นหรือก่อให้เกิดโรคเกาต์ง่ายกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น
 

อันนี้เป็นสาเหตุคร่าวๆ 8 ข้อ ที่จะกระตุ้น เวลาเราจะดูแลโรคอะไรก็ตาม เราต้องทราบถึงต้นเหตุก่อน เราถึงได้ป้องกันโรคที่ต้นเหตุ ทีนี้มาดูกันต่อว่า แพทย์วินิจฉัยโรคเกาต์ได้อย่างไร ข้อที่ 1 จะต้องมีอาการ เช่น อาการปวด บวม แดงร้อนของข้อ ข้อที่ 2 ถ้าบวมมากๆ หรือว่ามีก้อนโทไฟอยู่ อาจจะมีการเจาะน้ำในข้อต่อ เพื่อไปดูทางห้องปฏิบัติการว่า มีสาร มีการอักเสบ มีกรดยูริกอยู่ในนั้นหรือเปล่า ข้อที่ 3 มีการเจาะวัดระดับกรดยูริกในเลือด หรือการวัดระดับกรดยูริกในปัสสาวะ 24 ชม. ค่ามาตรฐานจะมีหลายสมาคม ผู้หญิงกรดยูริกในเลือดไม่ควรจะสูงเกิน 7.5 mg/dL ของผู้ชายไม่ควรจะเกิน 8.5 mg/dL ถ้าเอาตาม American College of Rheumatology ก็คือทั้งของผู้ชายผู้หญิงน้อยกว่า 6 mg/dL อันนี้หมอเห็นด้วย เพราะถ้าเผลอไปรับประทานอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ หรือสัตว์ปีก แล้วค่ายูริกในเลือดเพิ่มขึ้น ก็ยังถือว่าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่ถ้าเรามีค่ายูริกคาบเส้น เช่น 7.5 หรือ 8.5 mg/dL เวลาเราเผลอไปรับประทานอาหารที่เพิ่มกรดยูริก แล้วเกิดเกาต์แอทแทค (gout attack) โจมตีเรา อาการจะปวดนานเลย บางคนเป็นสามวัน บางคนปวดเป็นอาทิตย์ ฉะนั้นป้องกันไว้ก่อน อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถตั้งเป็นเป้าหมายไว้ได้ แล้วเดินสู่จุดนั้น
 

ในส่วนการรักษาทางยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มียากลุ่มไหนบ้างที่เกี่ยวกับโรคเกาต์ หมอจะเล่าให้ฟัง พอเป็นข้อมูลพื้นฐาน กลุ่มที่ 1 ยากลุ่มลดการอักเสบของข้อต่อ หรือที่เรียกว่า กลุ่ม NSAIDs กลุ่มที่ 2 ยาที่ชื่อว่ากลุ่ม Colchicine กลุ่มนี้ก็ลดการอักเสบและการเจ็บปวดของข้อต่อ กลุ่มที่ 3 กลุ่มลดการอักเสบเช่นกัน แต่แบบแรง อักเสบจริงๆ บวมจริงๆ แพทย์ก็อาจจะให้เป็นสเตียรอยด์ แต่สเตียรอยด์นี่มีผลข้างเคียงเยอะ ต้องปรึกษาแพทย์ทุกเคส กลุ่มที่ 4 ยากลุ่มป้องกันการโจมตีของเกาต์ เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol) เป็นกลุ่มที่ชื่อว่า xanthine oxidase inhibitor กลุ่มที่ 5 สำหรับโรคเกาต์เรื้อรัง จนเกิดก้อนโทไฟ ก็คือการผ่าตัด ถ้าก้อนนี้เข้าไปเบียดก้อน ใหญ่มาก เป็นปุ่มกระดูก อย่างนี้เราก็ต้องปรึกษาแพทย์ศัลยกรรมในการผ่าตัดและซ่อมแซมข้อที่สึกหรอในร่างกายของเราไป
 

ส่วนการควบคุมและหลีกเลี่ยง อาหารหรือเครื่องดื่มประเภทไหน ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคเกาต์ ถ้าเราแก้ที่ต้นเหตุได้ อาการก็จะทุเลาลง ดีขึ้น ถ้าเราแก้ที่ต้นเหตุไม่ได้ เอาแต่กินยา เราก็จะมีอาการที่ควบคุมได้ แต่ในอนาคตอาจจะดื้อยาก็เป็นได้ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา ถ้ากินเป็นเวลานานๆ การแก้ที่ต้นเหตุ จึงช่วยได้มากที่สุด
 

ข้อที่ 1 ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยเฉพาะ เบียร์ และไวน์ เนื่องจากมีพิวรีนสูง มีการวิจัยไว้ใน The American Journal of Medicine ปี ค.ศ. 2014 การดื่มแอลกอฮอล์ 1-2 แก้วต่อวัน เพิ่มการเป็นโรคเกาต์ถึง 36 %
 

ข้อที่ 2 ลดน้ำหนัก การลดไขมันในร่างกาย การรักษาโรคอ้วน คือสิ่งที่จะช่วยบรรเทาอาการโรคเกาต์ได้มาก อย่างเช่นเซลล์ไขมันจะสร้างกรดยูริกขึ้นมามากกว่าเซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมันจะสร้างสารอักเสบ มากกว่าเซลล์อื่นๆ เมื่อเป็นโรคอ้วน มักจะเกิดภาวะน้ำตาลสูงและเกิดภาวะที่เรียกว่า การดื้อต่ออินซูลิน ทำให้กรดยูริกมากกว่าเดิม เพราะอินซูลินมากขึ้น กรดยูริกก็มากเป็นเงาตามตัว มีการวิจัยไว้ใน Annals of the Rheumatic Diseases ปี ค.ศ. 2000 การลดน้ำหนักหรือลดไขมันในร่างกาย ช่วยในการรักษาโรคเกาต์ได้ด้วย
 

ข้อที่ 3 ลด ละ เลิก อาหารที่มีพิวรีนสูง เมื่อทานเข้าไปแล้ว พิวรีนก็จะถูกย่อยให้เกิดกรดยูริก อาหารที่มีพิวรีน มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อ 1 ขีด ถือว่าเป็นอาหารกลุ่มพิวรีนสูง ต้องหลีกเลี่ยงให้ไกล
 

● กลุ่มเครื่องในทุกชนิด เช่น ตับบด ตับห่าน ไส้ หัวใจ เซี่ยงจี้ เป็นต้น

● กลุ่มเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเป็ด เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ ต้องเน้นรับประทานพืชผัก

● กลุ่มอาหารทะเลเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะกลุ่มหอย เช่น หอยเชลล์ หอยแมลงภู่ เป็นต้น รวมถึง กะปิ ไข่กุ้ง ไข่ปู ไข่ปลา แม้แต่ปลาก็มีพิวรีนสูง เป็นปลากลุ่มที่มีไขมันมากๆ เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแฮร์ริ่ง ปลาแมคเคอเรล ปลาแองโชวี่ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน เป็นต้น

● กลุ่ม High Fructose Corn Syrub หรือน้ำตาลฟรุกโตสนั่นเอง มีการวิจัยไว้ในคน ประมาณ 125,000 กว่าคน ที่รับประทานฟรุกโตส ทำให้เกิดเป็นโรคเกาต์ หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 62 % อันนี้วิจัยไว้ที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา ปี ค.ศ. 2016 เพราะฉะนั้นคำแนะนำ ต้องหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้ทุกชนิดที่มีน้ำตาลอยู่ในนั้น หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมทุกชนิด เพราะว่ามี High Fructose Corn Syrub กระตุ้นเกาต์ได้แน่นอน เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมเหล่านี้ ต้องหลีกห่าง รวมถึงขนมที่ใส่น้ำตาลสูงๆ อาทิ เค้ก คุกกี้ เบเกอรี่

● กลุ่มผักทอดยอด หรือว่าเมล็ดพืชอ่อนๆ จะมีกรดยูริกอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นยอดกระถิน ยอดชะอม ยอดตำลึง ยอดฟักแม้ว ยอดผักบุ้ง เป็นต้น หรือเมล็ดเล็กๆ เป็นเมล็ดมะเขือเทศ เมล็ดแตงกวา
 

บางท่านเข้าใจผิดว่า แค่หลีกเลี่ยงปีกไก่ เป็ด ห่าน ก็น่าเพียงพอแล้ว แต่กลับต้องมาสงสัยว่า ทำไมเกาต์ยังมีอาการขึ้น เพราะว่ายังมีอาหารกลุ่มอื่นที่มียูริกสูง เช่น กลุ่มอาหารทะเล กลุ่มเนื้อสัตว์ที่มียูริกสูง ถ้าเราหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มนี้ทั้งหมดได้อาการของโรคเกาต์ก็จะดีขึ้น
 

ข้อที่ 4 ดื่มน้ำให้มาก หลักการดื่มคือ ค่อยๆดื่ม ค่อยๆจิบน้ำในระหว่างวัน เนื่องจากกรดยูริกตกผลึกในร่างกายเรา ถ้าเราดื่มน้ำเยอะการไหลเวียนของเลือดก็จะดีขึ้น น้ำในร่างกายจะช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกายทางปัสสาวะเราได้
 

ข้อที่ 5 ออกกำลังกาย เพื่อให้น้ำหนักดี ไม่เดินหน้าเข้าสู่โรคอ้วนในอนาคต ถ้าไม่เป็นโรคอ้วน เราก็จะมีโอกาสเป็นโรคเกาต์น้อยลง มีการวิจัยสนับสนุนไว้ใน The American Journal of Clinical Nutrition ในปี 2008 ว่าการออกกำลังกายโดยการวิ่งวันละ 8 กม. ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเกาต์ได้ 50% เพราะช่วยลดไขมันในร่างกายได้อีกทาง
 

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับเคล็ดลับการดูแลสุขภาพเพื่อการป้องกันและรักษาโรคเกาต์ ท่านใดที่ยังไม่ทราบว่าจะเรื่องต้นดูแลตนเองอย่างไร หมอมีคำแนะนำเริ่มต้นมาเสริมอีกหนึ่งเคล็ดลับก็คือ การจดบันทึกข้อมูลการทานอาหาร การดื่มน้ำ รวมถึงการออกกำลังกายต่างๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อเราย้อนดูแล้วเราจะทราบเลยว่าการใช้ชีวิต การทานอาหารของเรา มีปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาต์บ้างหรือไม่แล้วนำไปปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น ท่านใดที่ยังไม่เป็นในวันนี้ รีบป้องกันไม่ให้เป็นในวันหน้า ท่านใดที่เป็นแล้วในวันนี้ ขอให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นกันนะครับ
 


แหล่งอ้างอิง

1. Neogi, T., Chen, C., Niu, J., Chaisson, C., Hunter, D. J., & Zhang, Y. (2014). Alcohol quantity and type on risk of recurrent gout attacks: an internet-based case-crossover study. The American journal of medicine, 127(4), 311-318. doi: 10.1016/j.amjmed.2013.12.019

2. Dessein PH, Shipton EA, Stanwix AE, Joffe BI, Ramokgadi J. Beneficial effects of weight loss associated with moderate calorie/carbohydrate restriction, and increased proportional intake of protein and unsaturated fat on serum urate and lipoprotein levels in gout: a pilot study. Ann Rheum Dis. 2000;59(7):539-43.

3. Jamnik, J., Rehman, S., Blanco Mejia, S., de Souza, R. J., Khan, T. A., Leiter, L. A., . . . Sievenpiper, J. L. (2016). Fructose intake and risk of gout and hyperuricemia: a systematic review and meta-analysis of prospective cohort studies. BMJ open, 6(10), e013191-e013191. doi: 10.1136/bmjopen-2016-013191

4. Williams, P. T. (2008). Effects of diet, physical activity and performance, and body weight on incident gout in ostensibly healthy, vigorously active men. The American Journal of Clinical Nutrition, 87(5), 1480-1487. doi: 10.1093/ajcn/87.5.1480

5. Choi, H. K., & Curhan, G. (2008). Soft drinks, fructose consumption, and the risk of gout in men: prospective cohort study. BMJ, 336(7639), 309-312. doi: 10.1136/bmj.39449.819271.BE

6. Kaneko, K., Aoyagi, Y., Fukuuchi, T., Inazawa, K., & Yamaoka, N. (2014). Total purine and purine base content of common foodstuffs for facilitating nutritional therapy for gout and hyperuricemia. Biological and Pharmaceutical Bulletin, b13-00967.

7. Zhang, Y., Neogi, T., Chen, C., Chaisson, C., Hunter, D. J., & Choi, H. K. (2012). Cherry consumption and decreased risk of recurrent gout attacks. Arthritis and rheumatism, 64(12), 4004-4011. doi: 10.1002/art.34677

8. Rai, S. K., Fung, T. T., Lu, N., Keller, S. F., Curhan, G. C., & Choi, H. K. (2017). The Dietary Approaches to Stop Hypertension (DASH) diet, Western diet, and risk of gout in men: prospective cohort study. BMJ, 357, j1794. doi: 10.1136/bmj.j1794

9. Iftikhar N. Natural Ways to Reduce Uric Acid in the Body: Healthline; 2019 [cited 2020 1 June ]. Available from: https://www.healthline.com/health/how....

10. Tricia Kinman SW. Everything You Need to Know About Gout: Healthline; 2019 [cited 2020 1 June]. Available from: https://www.healthline.com/health/gout.

สามารถติดตามอ่านแหล่งอ้างอิงต่อได้ที่ :
https://www.facebook.com/drampteam http://www.dramp.com